คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านวิชาชีพ และเทคโนโลยี มุ่งเน้นผลิตนักศึกษาที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีการฝึกงานนอกสถานศึกษาเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และมีความรอบรู้ทางด้านวิชาการออกสู่สังคม ทั้งภาครรัฐและภาคเอกชน ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ เป็นที่ยอมรับขององค์กร ทั้งนี้ยังสามารถปฏิบัติงานและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จนทำให้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานต่าง ๆ
            ปัจจุบันทางคณะบริหารธุรกิจ ได้เปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาโท สายบริหารธุรกิจ เพื่อรองรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกสาขา เพื่อเข้ารับการศึกษาต่อ ซึ่งถือเป็นภาระกิจของคณะบริหารธุรกิจ ที่จะพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น หรือชุมชนใกล้เคียงให้มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุคคลเหล่านั้น ยังผลให้สู่การพัฒนาในระดับประเทศต่อไป

   คณะบริหารธุรกิจ เดิมชื่อฝ่ายพณิชยการ เปิดสอนเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๙๘  มีแผนกเดียว คือ แผนกวิชาพณิชยการ รับผู้สำเร็จการศึกษาจากมัธยมปีที่ ๖ (มัธยมศึกษาปีที่ ๓ ปัจจุบัน) หลักสูตร ๓ ปี สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน     ที่       รับ ๓๐ คน (ชาย ๑๕ คนและหญิง ๑๕ คน) เรียนที่โรงเรียนวรนารีเฉลิมสงขลา โดยแต่งตั้งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวรนารีเฉลิมให้ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายพณิชยการ (ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวหน้าคณะวิชาคนแรก) และได้พัฒนามาตามลำดับดังนี้
- ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร ๒ ปี สาขาวิชาการบัญชี รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (เลิกรับปีพ.ศ. ๒๕๔๖)
- ปี พ.ศ.๒๕๐๖ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร ๒ ปี สาขาวิชาการเลขานุการ รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (เลิกรับปีพ.ศ. ๒๕๔๙)
- ปี พ.ศ.๒๕๐๗ เปลี่ยนชื่อจากฝ่ายพณิชยการ เป็น คณะวิชาบริหารธุรกิจ 
- ปี พ.ศ.๒๕๐๘ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หลักสูตร ๓ ปี สาขาวิชาการบัญชี รับผู้สำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ ๘ หรือมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในปัจจุบัน (เลิกรับปีพ.ศ. ๒๕๑๒)
- ปี พ.ศ.๒๕๑๐ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หลักสูตร ๓ ปี สาขาวิชาการเลขานุการ รับผู้สำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ ๘ หรือมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในปัจจุบัน (เลิกรับปีพ.ศ. ๒๕๑๕)
- ปี พ.ศ.๒๕๒๖ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร ๒ ปี สาขาวิชาการตลาด รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (เลิกรับปีพ.ศ. ๒๕๔๙)
- ปี พ.ศ.๒๕๒๙ เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร๒ปี สาขาธุรกิจศึกษา-บัญชี (เลิกรับปี ๒๕๓๘)
- ปี พ.ศ.๒๕๓๒ เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาการบัญชี
- ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร ๒ ปี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการกลุ่มวิชาการจัดการทั่วไป เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการกลุ่มวิชาการจัดการอุตสาหกรรม
- ปี พ.ศ.๒๕๔๒ เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด
- ปี พ.ศ.๒๕๔๘ เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการกลุ่มวิชาการจัดการสำนักงาน
- ปี พ.ศ.๒๕๔๘ เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์
- ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการบัญชี เป็น บัญชีบัณฑิต
- ปี พ.ศ.๒๕๕๓ ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีสาขาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ เป็นสาขาระบบสารสนเทศทางธุรกิจ

ปรัชญาการศึกษา
"มืออาชีพด้านบริหารจัดการด้วย นวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน"

 

ปณิธาน
"มุ่งผลิตนักปฏิบัติด้านบริหารจัดการอย่างมืออาชีพที่มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อสร้างสรรค์สังคม"

 

วิสัยทัศน์ 
"องค์กรแห่งนวัตกรรมด้านบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาภูมิภาคอย่างมั่งคง"

 

พันธกิจ  
1. ผลิตกำลังคนด้านบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
2. สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมด้านบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมหรือสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์
3. ให้บริการวิชาการแก่สังคมด้วยนวัตกรรมด้านบริหารจัดการสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
4. สืบสานศิลปวัฒนธรรมและสร้างวิสาหกิจวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ 

 

เป้าหมายการพัฒนาคณะบริหารธุรกิจ
1. เป็นองค์กรสมัยใหม่
2. เป็นองค์กรภูมิภาคเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างวิสาหกิจวัฒนธรรมของชุมชนด้วย นวัตกรรมด้าน บริหารจัดการ
3. พัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการ ตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะบริหารธุรกิจ
1. สร้างความโดดเด่นและเป็นเลิศด้านบริหารจัดการตามอัตลักษณ์เชิงพื้นที่
2. สร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์
3. สร้างนวัตกรรมการบริการวิชาการที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ
4. สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมบนแนวคิดวิสาหกิจวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
5. สร้างระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

 

เป้าประสงค์
1.นักปฏิบัติมืออาชีพด้านบริหารจัดการเพื่อพัฒนาสังคมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2.ผลงานวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์นำไปสู่การใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ระดับภูมิภาค
3.ยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม ชุมชนในภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมด้านบริหารจัดการ
4. อนุรักษ์ สร้างคุณค่า มรดกวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมด้านบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
5. องค์กรสมัยใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการบริหารจัดการ

 

เอกลักษณ์                 
“สร้างนักปฎิบัติมืออาชีพ”

 

อัตลักษณ์                 

สื่ออัตลักษณ์บัณฑิตคณะบริหารธุรกิจ “ENTREPRENEUR” ดังนี้
E: Expert                  =มีความเชี่ยวชาญวิชาชีพ

N: Network               =มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ

T: Technology           =มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

R: Responsibility         =มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

E: Ethics                   =มีคุณธรรม จริยธรรม

P: Polite                  =มีความสุภาพ เรียบร้อย อ่อนโยน และเป็นกันเอง

R: Respect                =มีความเคารพ และยอมรับ

E: Electronics            =มีความสามารถในการใช้ระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

N: Nature Minded       =มีความใส่ใจธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

E: Emotion               =มีความฉลาดทางอารมณ์

U: Unity                   =มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน กลมเกลียวสามัคคี

R: Reason                 =มีเหตุผล สติ

 

สีประจำคณะบริหารธุรกิจ
สีฟ้า          #00ccff         
 

สัญลักษณ์ประจำคณะบริหารธุรกิจ


ดาวน์โหลด

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะบริหารธุรกิจ
1. สร้างความโดดเด่นและเป็นเลิศด้านบริหารจัดการตามอัตลักษณ์เชิงพื้นที่
2. สร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์
3. สร้างนวัตกรรมการบริการวิชาการที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ
4. สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมบนแนวคิดวิสาหกิจวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
5. สร้างระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

 

แนวทางในการบริหารและพัฒนาคณะบริหารธุรกิจ

แนวทางในการบริหารจัดการตามพันธกิจหลักทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในแต่ละด้าน ด้วยนโยบาย GOALS ดังนี้
          G: Good Governance
          O: Operation
          A: Attitude
          L: Loyalty
          S: Sustainable


1. Good Governance ต้องบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาลในการ บริหารอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการมีส่วนร่วม  การปฏิบัติตามกฎหมาย  ความโปร่งใส  ความรับผิดชอบ ความสอดคล้อง ความเสมอภาค การมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการมีเหตุผล โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกในสังคมและสร้างความสามัคคีให้เกิดกับบุคคลากรในคณะโดยอิสระทางความคิดตามระบอบประชาธิปไตย  ภายใต้กรอบข้อบังคับ และระเบียบ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ลำเอียง มีการปฏิบัติอย่างเสมอภาค ด้วยความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ส่งเสริมความรับผิดชอบ มอบหมายงานเพื่อให้คนทุกทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดตามภาระงานอีกทั้งความสอดคล้องต้องกันเป็นการกำหนดและสรุปความต้องการของคนในคณะ

2. Operation การทำงานต้องลดกระบวนการและขั้นตอนการทำงาน นำแนวคิด Lean มาปรับใช้ในองค์กร เพื่อให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยการใช้และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและเกิดความคุ้มค่า เพื่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด มีการทำงานโดยการนำระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น นำระบบประกันคุณภาพการควบคุมภายใน มาเป็นเครื่องมือในการบริหารงานอย่างจริงจัง

3. Attitude สร้างทัศนะคติในการทำงาน ปรับเปลี่ยน Mindset ในการทำงาน การคิดเชิงบวก(Positive Thinking) เป็นกระบวนการทางความคิดของบุคคล ที่ เกิด จากการรับรู้และแปลความหมายไปในทางที่ดี เช่นเดียวกับการมองโลกเชิงบวก การคิดเชิงออกแบบ(Design Thinking) เป็นกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เน้นมุมมองของผู้ใช้ และมีเจตนาในการสร้างผลลัพธ์ในอนาคตที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้และสถานการณ์ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) คือทักษะการคิดเกี่ยวกับ ความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการไม่เห็นคล้อยตามข้ออ้างต่างๆ แต่ตั้งคำถามท้าทาย หรือโต้แย้งข้ออ้างนั้นเพื่อเปิดแนวทางความคิดออกสู่ทางที่แตกต่าง อันนำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่สมเหตุสมผล การคิดเชิงสร้างสรรค์(Creative Thinking) เป็นกระบวนการคิดของสมอง วิธีการหรือกระบวนการคิดในสิ่งใหม่ๆ โดยมีแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์

4. Loyalty ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการดำเนินการ แบบมีคุณธรรม “ซื่อสัตย์ สามัคคี และเสียสละ” เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรในองค์กร ส่งเสริมและสร้างความสามัคคีให้กับองค์กร  เสริมสร้างให้เกิดความจงรักภักดีต่อองค์กร สร้างแรงจูใจในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อมั่นในองค์กร เพื่อให้เกิดความสุขกาย สุขใจ ในการทำงาน มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

5. Sustainable คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จะต้องมีความยั่งยืน อยู่คู่กับสังคม และก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง มุ่งมั่นพัฒนาความสามารถของบุคลากรและสร้างผู้นำที่ดีเพื่อองค์กรและสังคม เริ่มจากการวางรากฐานที่ดีให้แก่นักศึกษาและชุมชน ไปสู่ระดับขั้นของการพัฒนาทักษะและสร้างผู้นำที่ดีและมีจิตสำนึกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยึดมั่นในการบริหารจัดการและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และมรดกทางธรรมชาติ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม

อัตลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

"เชี่ยวชาญเทคโนโลยี มีทักษะปฏิบัติ"

อัตลักษณ์บัณฑิต

"บัณฑิตนักปฏิบัติ"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ มทร.ศรีวิชัย

1. มีวินัย ซื่อสัตย์ เสียสละ จิตสาธารณะ และภัคดีต่อองค์กร
2. เป็นนักปฏิบัติ ใฝ่รู้ สู้งาน
3. คิดเป็น ทำเป็น ใช้เป็น
4. มีทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข
5. เชี่ยวชาญเทคโนโลยี มีทักษะการสื่อสารระดับสากล 
6. รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
7. สามารถทำงานเป็นทีมได้ ทั้งในบทบาทของผู้นำและผู้ตาม
8. อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และสิ่งแวดล้อม
9. มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

แผนยุทธศาสตร์พัฒนาคณะบริหารธุรกิจ 

            แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยมุ่งพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันคนไทยมีคุณธรรมนำความรู้ รอบรู้เท่าทันโลกครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็งสังคมสันติสุขเศรษฐกิจมีคุณภาพเสถียรภาพและเป็นธรรมสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืนอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาลดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยมีเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความสามารถทักษะการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ตนเองที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย ทั้งนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนที่มีคุณธรรมนำความรู้ ส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและสามารถจัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่

            กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสื่อสารโดยด้านสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์และภาษา ด้านวัฒนธรรมเกิดการซึมซับวัฒนธรรมสากลมากขึ้น วัฒนธรรมโลกใหม่เป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน มีมาตรฐานและแบบแผนเดียวกันมากขึ้นประชากรมีการย้ายถิ่นมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างรวดเร็วลักษณะงานในอนาคตจะมีการกระจายผลิตเป็นชิ้นส่วน เรื่องของคุณภาพและประหยัดต้นทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตและการแข่งขันแรงงานและความรู้จึงจำเป็นต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมทั้งการเคลื่อนจากวัยแรงงานสู่วัยสูงอายุมากขึ้น จากผลของการพัฒนาทางการแพทย์ การสาธารณสุขและวางแผนครอบครัว เศรษฐกิจขยายตัวด้านการเงินและการธนาคารอย่างกว้างขวางเกิดการค้าเสรี การลงทุนข้ามชาติ สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีอิทธิพลในระดับโลกวิกฤติการณ์น้ำมันสงผลต่ออำนาจ การต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ส่งผลต่อรายได้ของประชากรแของประเทศทั่วโลก ด้านการเมืองที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีอิทธิพลเหนือระดับภูมิภาคภายใต้การรวมกลุ่มของประเทศมหาอำนาจ ลัทธิก่อการร้ายสากลแผ่ขยายไปทั่วโลก มีการทำลายร้างและก่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมเกิดการใช้และเผาผลาญทรัพยากรส่งผลให้เกิดกระแสโลกร้อน อุบัติภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงเกิดโรคระบาดใหม่ เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ ไข้หวัดนกที่ต้องหาทางป้องกัน

            ปัญหาการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผลการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษานานาชาติของสถาบันจัดอันดับ มหาวิทยาลัยนานาชาติในปี 2548 มีสถาบันอุดมศึกษาไทยเพียงแห่งเดียวติดอันดับใน 200 อันดับแรก

            อนึ่งจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันนานาชาติของสถาบันนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาการจัดการ (IMD) ด้านการศึกษาของไทยลดลงโดยลำดับโดยอยู่ในอันดับ 46 จาก 60 ประเทศในปี 2548 และอันดับ 48 จาก 61 ประเทศในปี 2549 นับเป็นวิกฤตการณ์อย่างยิ่งของคุณภาพการศึกษาไทย

            ขณะเดียวกันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในหลายประการยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา การส่งเสริมให้เอกชนครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น เป็นต้น

            ดังนั้น ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับและก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันในฐานะที่การศึกษามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในยุคของสังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้จึงจำเป็นต้องจัดทำกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกแห่งชาติ(พ.ศ.2545-2559) ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาการศึกษาของคณะบริหารธุรกิจต่อไป

ทำเนียบหัวหน้าคณะวิชาบริหารธุรกิจ

1. นายพงศ์สุวรรณ  ธาดา ระหว่างปี พ.ศ. 2499 – 2503
2. นายพิเชษฐ์  คงทน ระหว่างปี พ.ศ. 2503 – 2507
3. นายธงชัย  ลาวรรณ ระหว่างปี พ.ศ. 2507 – 2522
4. นางยุพา  เลขะกุล ระหว่างปี พ.ศ. 2522 – 2537
5. นางจิตติมา  สุทัศน์ ณ อยุธยา   ระหว่างปี พ.ศ. 2537 – 2540
6. นางเยาวพา  ณ นคร ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 3 พฤษภาคม 2550

 

ทำเนียบคณบดีคณะบริหารธุรกิจ

1.  รศ.เยาวพา  ณ  นคร             4  พฤษภาคม 2550 – 28 พฤษภาคม  2558
2.  ผศ.ดร.ยุพาภรณ์  อุไรรัตน์       29 พฤษภาคม  2558 – 28 พฤษภาคม 2562
3. ผศ.ชัยนันท์ ปัญญาวุทโส 29 พฤษภาคม 2562 - ปัจจุบัน