โครงการพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

โครงการพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ 
อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

บทสรุปผู้บริหาร

    โครงการพื้นที่แหล่งเรียนรู้ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา   ได้จัดขึ้น  ณ  อำเภอกระแสสินธุ์  จังหวัดสงขลา โดยคณะบริหารธุรกิจ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเป็นที่ 3 แล้ว เมื่อวันที่  29-31  มีนาคม 2560  โดยมีขั้นตอนการขออนุมัติงบประมาณ  เสนอโครงการ  ดำเนินโครงการ และรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการ  ซึ่งผลประเมินโครงการมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนักศึกษา อาจารย์  บุคลากร  ประชาชน  ผู้นำชุมชน   จำนวน  100  คน

          สโมสรนักศึกษา  คณะบริหารธุรกิจ  ได้ดำเนินการตามแผนงานของคณะบริหารธุรกิจ  โดยสรุปผลการประเมินโครงการและความเชื่อมโยงตามแผนกลยุทธ์  การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พ.ศ. 2557-2561  ใน
      มาตรการ  สร้างกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรม 
     แผนงาน  แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายศิลปวัฒนธรรม บรรลุตามเป้าหมายตัวชี้วัด  ระดับผลผลิต  คือ  ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจร้อยละ  86,  ระดับผลลัพธ์  คือ  ผู้เข้าร่วมโครงการมีความตระหนักในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ซึ่งโครงการดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสำหรับนักศึกษา  อาจารย์  บุคลากร  มหาวิทยาลัย และชุมชนในจังหวัดสงขลา  จึงสมควรแก่การส่งเสริมให้จัดดำเนินโครงการและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปในทุกๆ ปี

ที่มาและความสำคัญ   

                วัฒนธรรมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณค่าความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยม และความเป็นไทย ในปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยและมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อย เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงาม ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ วัฒนธรรม ได้มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา หากมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างหลากหลายกันในพื้นที่ ไม่ได้รับการสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟูรวมถึงการพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคมและจิตใจทำให้คุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมลดน้อยไปจนแทบจะสูญหาย
            วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาหลากหลาย ควรที่จะได้รับการถ่ายทอดเยาวชนรุ่นหลังสืบไป การอนุรักษ์เป็นหนทางหนึ่งที่ยั่งยืน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนให้ดำรงอยู่ในท้องถิ่น
                    การเรียนรู้ภูมิปัญญา โดยให้นักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่เป็นผู้สืบทอด ภูมิปัญญาจากผู้รู้ในชุมชน เพื่อให้เยาวชนสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดประมวลผล ตลอดจนสนับสนุนให้เยาวชน และชุมชนโดยตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน มีความเข้าใจรากเหง้า ความเป็นวัฒนธรรม แบ่งปัน เกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการศึกษาเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิต ชุมชนภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่มีมาช้านาน บนพื้นฐานของธรรมชาติที่เกี่ยวพันสอดคล้องกันกับวิถีชีวิตชุมชน  ฝ่ายพัฒนานักศึกษา  คณะบริหารธุรกิจ เล็งเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหาย จึงจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  อำเภอกระแสสินธุ์  เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ รักษา ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้ชุมชนแข็งแรงมีรากแก้ว ไม่ถูกกลืนไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์  โดยปราศจากดุลยภาพทางปัญญาและความรู้ที่จะอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้  โดยการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของอำเภอกระแสสินธุ์ เช่น วัดเอก วัดสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่  บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ  หน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าควายราบและปลาโลมาอิรวดี  ซึ่งเป็นมรดกทางด้านทรัพยากรและมรดกทางด้านวัฒนธรรมจากรุ่นปู่ย่าตายาย  โดยการจัดโครงการในครั้งนี้  ได้รับความร่วมมือจาก กำนันอรรถวุฒิ  ขุนชำนาญ กำนัน หมู่ 1  ตำบลกระแสสินธุ์  อำเภอกระแสสินธุ์  จังหวัดสงขลา  เป็นผู้ให้ความรู้และประสานงานด้านสถานที่และกลุ่มต่างๆ ในอำเภอกระแสนสินธุ์

 

วัตถุประสงค์

      1 เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  และเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก
    2 เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กเยาวชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญาและคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นชีวิต ค่านิยมที่ดีงามและความเป็นไทย
     3 เพื่อให้เด็กเยาวชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ความสำคัญ รู้จักวิถีชีวิต รู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ความเป็นมาและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น อันจะสร้างความภูมิใจและจิตสำนึกในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นสืบไป 
     4  เพื่อให้นักศึกษาสาขาระบบสารสนเทศได้ออกแบบความคิดและจัดทำวิดีโอแนะนำการท่องเที่ยวของอำเภอกระแสสินธุ์  ในหัวข้อ  “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  อำเภอกระแสสินธุ์”
     5  เพื่อให้นักศึกษาสาขาการตลาดได้เขียนแผนในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอำเภอ

กระแสสินธุ์

 

เป้าหมาย

เชิงปริมาณ

จำนวนนักศึกษา และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่น้อยกว่า 100  คน

เชิงคุณภาพ

-   เพื่อให้นักศึกษาได้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอำเภอกระแสสินธุ์ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

             1.  นักศึกษามีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  และเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก
           2.  เด็กเยาวชนในท้องถิ่นมีจิตสำนึก เกิดความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญาและคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นชีวิต ค่านิยมที่ดีงาม และความเป็นไทย
          3.  เด็กเยาวชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ความสำคัญ รู้จักวิถีชีวิต รู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ความเป็นมาและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น อันจะสร้างความภูมิใจและจิตสำนึกในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นสืบไป
          4.   นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการสร้างสื่อ  และมีผลงานจากการทำวิดีโอแนะนำการท่องเที่ยวของ อำเภอกระแสสินธุ์  ในหัวข้อ “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  อำเภอกระแสสินธุ์” 

 

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ

          วันที่  29-31   มีนาคม  2560  ณ   อำเภอกระแสสินธุ์  จังหวัดสงขลา

 

งบประมาณ   50,000  บาท

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน (ใหม่) ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี

          โครงการพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ อำเภอกระแสสินธุ์  ดำเนินการโครงการโดยฝ่ายพัฒนานักศึกษาและสโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ  ตั้งแต่ปี 2558– ปัจจุบัน  ทั้งนี้เพื่อการดำเนินงานโครงการดังกล่าวให้สำเร็จสมบูรณ์นั้น ได้ใช้หลักการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับการประกันคุณภาพ  ได้นำระบบ PDCA :  (Plan –Do-Check-Action)  มาใช้และที่สำคัญคือ ได้นำปัญหา ข้อบกพร่อง และความผิดพลาด จากการดำเนินงานในปีที่แล้วมาพัฒนาโครงการในปีนี้ ให้มีความสมบูรณ์มากกว่าเดิม  ดังนี้

 

ขั้นตอนการวางแผน  Plan    โดยการประชุมวางแผนการดำเนินงานโครงการ มีรายละเอียด  ดังนี้

       1.  ประชุมและวางแผนการดำเนินงานโครงการ เช่น  งบประมาณ   กำหนดระยะเวลาการจัดงานแนวทางการดำเนินกิจกรรม แบ่งหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน และกำหนดการจัดรูปแบบกิจกรรม

       2.  สำรวจความสนใจด้านการเข้าร่วมกิจกรรม และรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม

       3.  เขียนโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการและรอผลอนุมัติ

       4.  ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการ

 

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน  Do   แบ่งออกเป็น 2  ขั้นตอน  คือ  ขั้นเตรียมการ และขั้นปฏิบัติ

          เมื่อวางแผนการดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการดำเนินงานก็แบ่งการทำงานและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบดังนี้ 

ฝ่ายดำเนินงาน  ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานักศึกษา และสโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มีหน้าที่ดังนี้

1.  ดำเนินโครงการโดยเริ่มจากการประชาสัมพันธ์โครงการให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปทราบรายละเอียด เป็นลำดับแรก ซึ่งจากเดิม  ที่ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ด้วยโปสเตอร์ หนังสือเชิญเข้าร่วมโครงการ  พบว่ายังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร  ฝ่ายพัฒนานักศึกษา  และสโมสรนักศึกษาจึงเดินทางไปสำรวจพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ โดยการติดต่อประสานงานผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสอบถามและหาปราชญ์ชาวบ้านไว้สำหรับให้ข้อมูลกับนักศึกษา

2.  รับสมัครนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ผ่านระบบไลน์  QR  Code  จำนวน   100  คน 

3.  ดำเนินโครงการตามวันที่กำหนดไว้  โดยได้มีการทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานด้านต่างๆ ไว้สำหรับทำหน้าที่ในวันเข้าร่วมโครงการ เช่น  กรรมการฝ่ายสถานที่  มีหน้าที่ไปจัดเตรียมสถานที่ของการบรรยาย กรรมการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม  มีหน้าที่จัดเตรียมอาหารให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ  กรรมการฝ่ายประเมินผล  มีหน้าที่ประเมินผลความสำเร็จของโครงการ

 

ขั้นตอนการตรวจสอบ  Check

การติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการ ในด้านต่าง ๆ  ดังนี้

              ด้านการวางแผนการดำเนินงานเป็นไปตามที่วางแผนไว้คือกำหนดการจัดได้ตรงตามที่กำหนดไว้นักศึกษาและผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการร้อยละ 86
           ด้านปฏิบัติ  มีการทวนสอบ และติดตามผลการเข้าร่วมโครงการของนักศึกษา โดยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ  ก็จะให้นักศึกษานำความรู้ และภาพกิจกรรมที่ได้มาประมวลผล อยู่ในรูปแบบของวิดิโอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอำเภอกระแสสินธุ์ โดยมีการตัดสินวิดีโอที่ดีที่สุด และมีเงินรางวัให้กับผลงานที่ดีที่สุด
          หลังจากตรวจสอบทุกขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ พบว่า บุคลากรในคณะบริหารธุรกิจ รวมถึงสโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มีความภาคภูมิใจในผลการดำเนินงานครั้งนี้    ร้อยละ 86

 

ขั้นตอนปรับปรุงการดำเนินการให้เหมาะสม  Action

          หลังจากที่ตรวจสอบและพบข้อผิดพลาดในขั้นตอนของการตรวจสอบแล้ว  คณะกรรมการดำเนินงานก็ได้ประชุมเพื่อปรึกษาหารือ และรวบความคิดเห็นและหาแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินงาน ต่อไป เช่น  การเดินทางไปเข้าร่วมโครงการใช้การเดินทางแบบไปกลับ  ทุกวัน  ทำให้นักศึกษาหลายคนเสนอว่า ควรนอนพักค้างคืน  เพื่อจะได้มีเวลาสำรวจสถานที่อำเภอกระแสสินธุ์ยามค่ำคืน  และสามารถได้มีเวลาพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน และได้ทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ นักเรียนในอำเภอกระแสสินธุ์มากขึ้น

 

ผลลัพธ์และผลกระทบของกิจกรรม/โครงการ

          1. นักศึกษามีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  และเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก

        2.  นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาให้ทักษะการใช้ชีวิต เรียนรู้การทำงานร่วมกัน มีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ดี  รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รู้จักบทบาทหน้าที่ผู้นำและผู้ตามที่ดี

          3.  คณะบริหารธุรกิจได้มีแกนนำนักศึกษาและได้สร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมกับชุมชน

          4.  เป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคณะบริหารธุรกิจ

 

ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ  

          ความมุ่งมั่นของทีมสโมสรนักศึกษากับผู้นำชุมชน  การทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างพื้นที่และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวนั้น  ต้องมีความเข้าใจในบริบทของชุมชน ทีมสโมสรนักศึกษามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปช่วยพัฒนาพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์  ให้เป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจทางด้านการท่องเที่ยว  ด้วยการศึกษาหาข้อมูลและลงพื้นที่สัมภาษณ์กับชุมชนอย่างละเอียด  และลงพื้นที่เป็นระยะ อีกทั้งเพื่อชุมชนมีปัญหา เช่นประสบภัยน้ำท่วม คณะบริหารธุรกิจ ก็แสดงความจริงใจกับชุมชนโดยการเข้าไปช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง  ทำให้ชุมชนเห็นถึงความตั้งใจจริงของคณะบริหารธุรกิจ

          หน่วยงานของรัฐ  กลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน

          ความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐ  กลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะขับเคลื่อนการปฏิบัติการให้สำเร็จลุล่วงได้ การได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านในชุมชนให้ร่วมมือในการปฏิบัตินั้นทีมปฏิบัติงานต้องแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่ปราศจากความต้องการผลประโยชน์ให้ชาวบ้านได้เห็นและให้ชาวบ้านตระหนักถึงความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ

          แนวทางที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต

          โครงการพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ อำเภอกระแสสินธุ์  เป็นโครงการที่จัดขึ้นมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา  3  ปี และได้รับความชื่นชม  และการยอมรับจากชุมชนในอำเภอกระแสสินธุ์ และทำให้คนรู้จักอำเภอกระแสนสินธุ์มากขึ้นผ่านสื่อของนักศึกษา  ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ควรค่าแก่การต่อยอดเพื่อให้พัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอกระแสสินธุ์ให้มากขึ้น  อีกทั้งยังเป็นการพัฒนานักศึกษาให้ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม  ซึ่งในปีนี้และปีต่อไปในอนาคต สโมสรนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ จะดำเนินโครงการ ให้อยู่ในรูปแบบของวัฒนธรรม  4.0  คือ  การแปลงคุณค่าเป็นมูลค่า  หมายถึง  เราจะพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอกระแสสินธุ์ให้มากขึ้น  โดยการนำภูมิปัญญา  ความรู้และคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ อันได้แก่  ข้าว  ผ้า  ยา  เรือน  และสุนทรียะ  ซึ่งเป็นนโยบายสืบสานศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  มาทำให้เกิดเป็นมูลค่า  เช่น  ในปีต่อไป  สโมสรจะทำการท่องเที่ยวของอำเภอกระแสสินธุ์ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  โดยแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ให้ชัดเจน  คือ 
                                      ข้าว  หมายรวมถึงวัฒนธรรมทางด้านอาหารการกินของคนกระแสสินธุ์   
                                    ผ้า หมายรวมถึง  วัฒนธรรมการแต่งกาย  และผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์    
                                    ยา  หมายถึง  ยารักษาโรคจำพวกสมุนไพรและความเชื่อต่างๆที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  

                                     เรือน  หมายถึง   ลักษณะที่อยู่อาศัยของชาวกระแสสินธุ์ เช่น  การทำหลังคาบ้าน หรือหลังคากระท่อมจากใบสาคู  ซึ่งจะมีลักษณะบ้านเรือน  ที่โดดเด่นและมีประวัติความเป็นมายาวนาน 
                                   สุนทรียะ  คือ  ความงดงามของศิลปวัฒนธรรมของชาวกระแสสินธุ์  
เช่น  ประเพณีแข่งเรือในงานชักพระที่จัดขึ้นทุกปีที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ วัดแหลมบ่อท่อ เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้  สโมสรจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ  official line   webpage  facebook  เข้ามาช่วยในการอนุรักษ์  และเผยแพร่ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน  

 

ประมวลภาพกิจกรรม

 

 

ผลงานนักศึกษา