แผนยุทธศาสตร์พัฒนา

แผนยุทธศาสตร์พัฒนาคณะบริหารธุรกิจ 

            แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยมุ่งพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันคนไทยมีคุณธรรมนำความรู้ รอบรู้เท่าทันโลกครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็งสังคมสันติสุขเศรษฐกิจมีคุณภาพเสถียรภาพและเป็นธรรมสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืนอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาลดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยมีเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความสามารถทักษะการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ตนเองที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย ทั้งนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนที่มีคุณธรรมนำความรู้ ส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและสามารถจัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่

            กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสื่อสารโดยด้านสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์และภาษา ด้านวัฒนธรรมเกิดการซึมซับวัฒนธรรมสากลมากขึ้น วัฒนธรรมโลกใหม่เป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน มีมาตรฐานและแบบแผนเดียวกันมากขึ้นประชากรมีการย้ายถิ่นมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างรวดเร็วลักษณะงานในอนาคตจะมีการกระจายผลิตเป็นชิ้นส่วน เรื่องของคุณภาพและประหยัดต้นทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตและการแข่งขันแรงงานและความรู้จึงจำเป็นต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมทั้งการเคลื่อนจากวัยแรงงานสู่วัยสูงอายุมากขึ้น จากผลของการพัฒนาทางการแพทย์ การสาธารณสุขและวางแผนครอบครัว เศรษฐกิจขยายตัวด้านการเงินและการธนาคารอย่างกว้างขวางเกิดการค้าเสรี การลงทุนข้ามชาติ สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีอิทธิพลในระดับโลกวิกฤติการณ์น้ำมันสงผลต่ออำนาจ การต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ส่งผลต่อรายได้ของประชากรแของประเทศทั่วโลก ด้านการเมืองที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีอิทธิพลเหนือระดับภูมิภาคภายใต้การรวมกลุ่มของประเทศมหาอำนาจ ลัทธิก่อการร้ายสากลแผ่ขยายไปทั่วโลก มีการทำลายร้างและก่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมเกิดการใช้และเผาผลาญทรัพยากรส่งผลให้เกิดกระแสโลกร้อน อุบัติภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงเกิดโรคระบาดใหม่ เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ ไข้หวัดนกที่ต้องหาทางป้องกัน

            ปัญหาการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผลการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษานานาชาติของสถาบันจัดอันดับ มหาวิทยาลัยนานาชาติในปี 2548 มีสถาบันอุดมศึกษาไทยเพียงแห่งเดียวติดอันดับใน 200 อันดับแรก

            อนึ่งจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันนานาชาติของสถาบันนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาการจัดการ (IMD) ด้านการศึกษาของไทยลดลงโดยลำดับโดยอยู่ในอันดับ 46 จาก 60 ประเทศในปี 2548 และอันดับ 48 จาก 61 ประเทศในปี 2549 นับเป็นวิกฤตการณ์อย่างยิ่งของคุณภาพการศึกษาไทย

            ขณะเดียวกันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในหลายประการยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา การส่งเสริมให้เอกชนครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น เป็นต้น

            ดังนั้น ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับและก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันในฐานะที่การศึกษามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในยุคของสังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้จึงจำเป็นต้องจัดทำกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกแห่งชาติ(พ.ศ.2545-2559) ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาการศึกษาของคณะบริหารธุรกิจต่อไป